BOOK NOW
Check in 14:00 hrs. & Check out 12:00 hrs.

ล้านนารำลึก

หวนนึกถึงเรื่องคนเมือง จากเครื่องประดับร่วมสมัย

6 สิงหาคม ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทนำ:

นิทรรศการ "ล้านนารำลึก หวนนึกถึงเรื่องคนเมือง จากเครื่องประดับ ร่วมสมัย" แสดงให้เห็นถึง ฝีมืออันประณีต บรรจงและจินตนาการบรรเจิดของนักออกแบบเครื่องประดับไทย รุ่นใหม่ ระดับหัวกะทิ 9 ท่าน 9 คอลเล็กชั่น โดยเหล่าเครื่องประดับ จะถูกตีความ ภายใต้บริบทของล้านนา และเล่าออกมาเป็นเรื่อง อันลำรึกถึงวิถี ความเชื่อ และบางมุมมองของชีวิตชาวเมือง เชียงใหม่

นับเป็นการปรากฏตัวในเชียงใหม่เป็นครั้งแรกของคอลเล็กชั่นเครื่องประดับโดยนักออกแบบรุ่นใหม่ คือ คาโซ สพรั่ง โฟลว์ โมโน ฝนทิพย์ ปิลันทา แอซทิค ทูดีไซร์ และ ณีรนุช ซึ่งแต่ละท่านสร้างสรรค์งานออกแบบได้อย่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แทมมารินวิลเลจ เปิดประตูรับผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ และ เลือกสรรชิ้นงานต่างๆ ในคอลเล็กชั่น ได้เพียงแห่งเดียวที่ แทมมาริน บูติค ร้านค้าประจำโรงแรมแทมมาริน วิลเลจ ซึ่งนำเสนอผลงาน ของนักออกแบบไทยที่คัดสรร มาเป็นอย่างดี พร้อมกับงานฝีมือ และศิลปวัตถุ อันมีเอกลักษณ์ ของความเป็นล้านนา และที่ขาดไม่ได้ คือ ผลิตภัณฑ์ซึ่งโรงแรมแทมมาริน วิลเลจออกแบบมา สำหรับโรงแรมฯโดยเฉพาะ

ด้วยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ที่แตกต่าง ส่งผลให้ มีความหลากหลายในผลงาน ตั้งแต่สิ่งที่เรียบง่าย ในธรรมชาติ เช่น รูปทรงและพื้นผิวของใบไม้ ดอกไม้ ซึ่งกลายมาเป็นคอลเล็กชั่น "ลักษณ์ไทย" โดย สพรั่ง "มาลัย" โดย ฝนทิพย์ และ "ดอกหญ้า" โดย แอซทิค ไปจนถึงศิลปะพื้นบ้านของไทย ที่ถูกถ่ายทอดผ่านออกมาในคอลเล็กชั่น "บี โฟลว์" โดย วไลพรรณ ชูพันธ์ ซึ่งมีการนำผ้าไหมไทยมาผสมผสานในการออกแบบ หรือว่าจะเป็นการนำเลขไทยมาเป็นตัวชูโรง ในคอลเล็กชั่น "เรารักษ์เลขไทย" ของ โมโนเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน

นิทรรศการ ล้านนารำลึก เป็นเสมือนการสร้างสะพานเชื่อมโยงระหว่างความร่วมสมัย โดยมีงาน เครื่องประดับเป็นตัวแทน กับความเก่าแก่ของวัฒนธรรมชาวเหนือ ภายใต้จิตวิญญาณแห่งล้านนา ชิ้นงานออกแบบอัน ตระการตาจึงดลใจให้หวนนึกถึงวัตถุที่มาจากวัฒนธรรมล้านนา อันมีรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายคลึงกันเช่น งานเครื่องประดับทองเหลืองซ่อนลายจีบของ สพรั่ง เคียงคู่กับ ตาลปัตร พัดใบลาน ภาพที่ชาวล้านนาแสนจะคุ้นเคยเพราะพระสงฆ์จะใช้บังหน้า ระหว่างพิธีสวด ส่วน งาน "มาลัย" โดย ฝนทิพย์ ซึ่งรับแรงบันดาลใจมาจากการถวายบูชา ของคนภาคกลาง ถูกเปรียบเปรยกับ ขันดอก ของชาวล้านนา เป็นต้น

ผลงานร่วมแสดงยังรวมถึง คอลเล็กชั่น “รีเฟล็กซ์ชั่น” ของ คาโซ โดย ศิริรัตน์ เจียมพจมาน และ ภัครพงศ์ ตรีธรรมพินิจ ซึ่งแสดงถึงความฉาบฉวย ของการเล่นกับแสงเงาที่เกิดจากการฉลุ ลวดลายบนชิ้นงาน อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาวะการเปลี่ยนแปลงในวงจรชีวิตผีเสื้อ สำหรับ ปิลันธา พี่น้องนักออกแบบ จุฑาพัชร์ และ อดิวิศว์ วิทยา นำเสนอคอลเล็กชั่น “การเวก” ซึ่งนอกจากจะนำรูปทรงและกลิ่นหอมรัญจวนของดอกการเวกของไทยมาเป็นแรงบันดาลใจแล้ว ยังสื่อถึงโคม และ ดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์แทนพุทธบูชาอีกด้วย ในทางกลับกัน ทศพล วชิระดิสัย แห่ง ทูดีไซร์ ใช้วิธีคิดที่แหวกแนวมาเป็นรากฐานของการออกแบบเครื่องประดับเงิน รูปลักษณ์ล้ำสมัย

ตุง สายใยเชื่อมความสัมพันธ์

‘ตุง‘ ส่วนประกอบอันมีสีสันของดินแดนล้านนา มักจะใช้ประดับตกแต่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะในความเชื่อของชาวล้านนานั้น ตุงเป็นเหมือน สื่อกลางในการเชื่อมต่อระหว่างชีวิตและจิตวิญญาณ คำว่า ตุง นั้น หมายถึง ธง ที่ทิ้งตัวลงในแนวดิ่ง มีรูปร่างลักษณะหลายหลาย ทำมาจากวัสดุหลากชนิด อาทิ กระดาษสา ผ้า ใบลาน ไม้ หรือ แม้กระทั่งโลหะ ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของแต่งละกลุ่มชน ซึ่งล้วนมีกรรมวิธีพิเศษในการทำตุงต่าง ๆ กันด้วย

ตุงที่ปักอยู่บนกองทราย ภาพคุ้นตาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี๋ใหม่เมือง แท้จริงแล้ว ชาวล้านนาใช้ตุงเป็นสัญลักษณ์แทนการอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ให้ท่านเหล่านั้น ได้ใช้ตุงที่ปักไว้ไป่ปีนจากห้วงแห่งทุกข์สู่สรวงสวรรค์ ถือเป็นการระลึกถึงพระคุณ ของบรรพบุรุษ ซึ่งนับเป็นการทำบุญอันมหาศาล เปรียบดังเม็ดทรายจำนวนนับไม่ถ้วนที่ขนเข้าวัด ในวันเดียวกันนั่นเอง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี๋ใหม่เมือง

การทำตุงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศ สนุกสนาน เคล้าการสืบสานภูมิปัญญาและศิลปะให้ยั่งยืน เริ่มจากการไปซื้อกระดาษมันหรือกระดาษว่าวสีสันสดใส กลับบ้านมานั่งล้อมวงกัน มักมีพ่อ อุ๊ยสอนหลานๆ พับกระดาษ และสอนวิธีการตัดตุง เด็กๆจะสนุกกับการเลือกกระดาษสีที่ตนเองชอบ และเร้าใจ ในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อคลี่กระดาษที่ตนเองตัดกับมือ ว่าสวยงามแค่ไหน โดยตุงกระดาษที่ชาวบ้านมักประดิษฐ์ขึ้นมาเองในแบบนี้ เรียกว่า “ตุงใส้จ๊าง ตุงใส้หมู” ซึ่งอาจฟังดูน่ากลัว แต่แท้จริงแล้ว ชื่อนี้มาจากรูปร่างและลักษณะที่เป็นพวงสลับซับซ้อน ตุงไส้จ๊าง ก็พวงใหญ่หน่อยสลับสีสันสวยงาม ส่วนตุงไส้หมูก็ขนาดย่อมกว่า แต่ความงามไม่ต่างกัน

เมื่อเปรียบเปรยกับ ตุง ของชาวล้านนา อันเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์ และ โลกแห่งวิญญาณ เครื่องประดับ อันวิจิตรพิสดารของ ทูดีไซร์ จึงเป็นสื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชิ้นงานและผู้สวมใส่ โดยแสดงออกผ่านเทคนิคการเชื่อมต่อกันเป็นรูปทรงของเส้นใยเงินบางเรียว

โคม แสงสว่างแห่งความรุ่งเรือง

ความอ่อยช้อยงดงามของหมู่เครื่องประดับรูปทรงดอกบัว โดย ปิลันธา เป็นความงามอันแฝงไว้ด้วย สัญลักษณ์ เปรียบ ดอกบัว ดั่งความงามอันบริสุทธิ์ เป็นเครื่องสักการะควรแก่พระศาสดา เมื่อเกิดการสร้างสรรค์เครื่องประทีปบูชา จึงมีลักษณะเป็นโคมรูปดอกบัว โดยแสงประทีปจากโคมนั้น เป็นตัวแทนการสักการะบูชาพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยส่องประกายให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข เมื่อนึกถึงภาพวิถีชีวิตแบบล้านนา โคม เป็นสิ่งหนึ่งที่ผูกพันอยู่กับวิถีคนเมืองมาช้านาน โดยเฉพาะในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาล ยี่เป็ง หรือ ลอยกระทง ที่จะมีโคมดอกบัวประดับประดาอยู่ทั่วเมือง และสามารถเห็นแสงสว่างของ โคมลอย อยู่เต็มท้องฟ้ายามราตรี

โคม เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมล้านนาอย่างจริงจัง เมื่อเพียง ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าค่อนข้างใหม่ หากเทียบกันอาณาจักรอันมีประวัติศาสตร์ยืนยาวกว่า ๗๐๐ ปี เพราะการทำโคม เป็นภูมิปัญญาชาวไทเขิน กลุ่มชนที่ถิ่นฐานเดิมอยู่ในเมืองสาดแคว้นเชียงตุง ชาวไทเขินเข้ามาในดินแดนล้านนา พร้อมภูมิปัญญาการทำโคมติดตัวมาด้วยในยุคฟื้นฟูเชียงใหม่ หลังจากที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง ๒๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๑๐๑ – พ.ศ. ๒๓๑๙)

ในกาลนั้น เมืองเชียงใหม่ยังเงียบเหงา พระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงองค์แรกของเชียงใหม่ จึงรวบรวมกลุ่มคนจากแคว้นต่างๆ รวมทั้งชาวไทเขิน มาตั้งถิ่นฐานในล้านนาเชียงใหม่ จนถูกขนานนามว่าเป็นยุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองฯ จนได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการค้าขายและเจริญรุ่งเรืองต่อๆ มา

ชาวไทยภูเขา แต่งแต้มสีสันให้วัฒนธรรมล้านนา : คอลเล็กชั่น “ชนเผ่า” โดย ณีรนุช

เครื่องประดับในคอลเล็กชั่น “ชนเผ่า” โดย ณีรนุช เป็นตัวแทนวัฒนธรรมของชนเผ่ากลุ่มน้อยใหญ่ ในดินแดนล้านนา อันเป็นส่วนประกอบของความเป็นล้านนา ที่เป็นเอกเทศน์และฉีกแนว แต่ก็ไม่สามารถละเลยได้ดินแดนล้านนา มีความหมายในเชิงภาษาว่า “ดินแดนอันอุดมไปด้วยทุ่งนา”

จึงสามารถสันนิษฐานไปได้ว่า เป็นผืนแผ่นดินที่ครอบคลุมแต่ที่ราบลุ่มของเมือง แต่แท้ที่จริงนั้น ล้านนายังครอบคลุมที่ราบสูงและภูเขาอันเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าน้อยใหญ่ร่วม ๑๐ เผ่า ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของวัฒนธรรมล้านนา ด้วยความรักสันโดษชาวไทยภูเขาจึงเลือกที่จะอาศัยอยู่บนที่สูง เพราะเหตุนี้ วัฒนธรรมชนเผ่าจึงมีความงามที่เป็นเอกลักษณ์ และเจริญรุ่งเรือง ในแบบของตน โดยเฉพาะด้านภูมิปัญญา ในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม และความเชื่อทางจักรวาลวิทยา

นอกเหนือจากนี้แล้ว การแสดงออกซึ่งตัวตนผ่านทางเครื่องแต่งกายเครื่องประดับของชาวเผ่า ยังมีความงดงามในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตามทรรศนะความงามในของแต่ละเผ่าพันธุ์ สื่อให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่จะรังสรรค์สุนทรียศาสตร์อีกแขนง อันเป็นส่วนเติมเต็มให้แก่วัฒนธรรมล้านนา “ล้านนารำลึก” สะท้อนความตั้งใจของ โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ ที่จะนำประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบร่วมสมัย

เพราะทั้งสองต้องพึ่งพากัน พร้อมกับช่วยส่งเสริมคุณค่าและความงดงามของกันและกัน ทั้งนี้ การผสมผสานของอารยธรรมเก่า และนวัตกรรมใหม่ที่นิทรรศการนำเสนอ ปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม และทางจิตใจสำหรับชาวล้านนาเอง

และสำหรับผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกันกับผู้ที่รักและเห็นคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ของงานออกแบบ