๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ – ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๙
ความยั่งยืนของภูมิปัญญาไทยในอดีตยังฉายแสงในนิทรรศการครั้งใหม่ ณ โรงแรม แทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่
“ในอดีตวัฒนธรรมล้านนาไทยจะโคจรรอบๆ หลักพื้นฐานเสมอ ทั้งหมดมีความเกี่ยวพันและสำคัญเท่ากัน นั่นคือ ‘การนับถือธรรมชาติ นับถือผู้อื่นและนับถือตัวเราเอง’ หากถ้าสมัยนี้เราใช้หลักพื้นฐานเหล่านี้กับชีวิตของเราได้ เราคงสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาและสิ่งท้าทายหลายอย่างที่เรากาลังเผชิญอยู่ในสังคมปัจจุบันก็เป็นได้” - อาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ - ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ - เชียงใหม่ - ‘เสียงสะท้อนของภูมิปัญญา : อยู่เป็น ยังเป็นอยู่’ นิทรรศการ ครั้งที่ ๘ ณ โรงแรม แทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่ จะกล่าวถึงบริบทการพิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของวัฒนธรรมล้านนาไทยและการดำรงชีวิตอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติที่มีมานานก่อนคำว่าออร์แกนิคและความยั่งยืนจะเป็นคำที่ติดปากเสียด้วยซ้ำ นิทรรศการ อยู่เป็น ยังเป็นอยู่ จัดแสดงภาพประกอบและสิ่งของที่ชี้ให้เห็นวิถีชีวิตของชาวล้านนาและภูมิปัญญาที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาที่หลายอย่างกำลังเลือนหายไป จึงเกิดแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนปัจจุบันหลายต่อหลายกลุ่มซึ่งถวิลหาภูมิปัญญาเหล่านั้นทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และได้พยายามอนุรักษ์รวมถึงใช้เป็นหลักการประกอบธุรกิจที่ไม่เพียงแต่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไรเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ปกป้องธรรมชาติและคืนกำไรแก่สังคมอีกด้วย ซึ่งนิทรรศการ อยู่เป็น ยังเป็นอยู่ นี้จะมีไปจนถึงวันที่ ๑๑ ธันวาคมนี้
นิทรรศการนี้จะทำหน้าที่ดั่งเป็นหน้าต่างเปิดให้เห็นถึงการพึ่งพาตนเองของชาวล้านนาหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา อาทิ การก่อร่างสร้างบ้านเรือนจากวัสดุธรรมชาติ เช่นไม้ ไม้ไผ่และใบตาล การทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่มเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน การทำนา ปลูกข้าวและปลูกพืชผักไว้กินในครัวเรือน การออกหาปลาในหนองน้ำและลำธาร การเลี้ยงปศุสัตว์ หรือแม้กระทั่งการรู้ถึงสรรพคุณของต้นไม้ใบหญ้าและสมุนไพรต่างๆ เพื่อนาไปปรุงเป็นยารักษาโรค เป็นต้น
นิทรรศการ ‘เสียงสะท้อนของภูมิปัญญา’ ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณระหว่างชาวล้านนากับธรรมชาติรอบตัว โดยก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยส่วนใหญ่จะมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณ มีความเชื่อว่าโลกเรานี้มีวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์เร้นลับสถิตอยู่และเราจะต้องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เพื่อจะได้อยู่อย่างสมดุลกับจักรวาลตามความเชื่อของคนไทยว่าโลกนี้มีเทวดารักษานาข้าว เทวดารักษาต้นไม้ รักษาป่า ภูเขาและแม่น้ำและมนุษย์ต้องระมัดระวังไม่ไปล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ชาวล้านนามักจะทำการเซ่นสังเวยเทวดาเป็นประจำเพื่อขอความคุ้มครองและเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ความเชื่อในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพลังธรรมชาตินั้นเป็นรากของวัฒนธรรมล้านนาและยังมองเห็นได้อยู่จากพิธีกรรมในปัจจุบันแม้ว่าความหมายเบื้องลึกของพิธีกรรมนั้นอาจเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจสำหรับคนรุ่นใหม่